บทคัดย่อ

ไอเดียถนนสายภูมิปัญญาเกิดขึ้นเนื่องจากเห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งด้านการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ หรือการต่อยอดพัฒนานวัตกรรม แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทำให้องค์ความรู้ และกระบวนการสั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นขาดตอน รวมถึงภูมิปัญญาที่ถูกทอดทิ้งลืมเลือนและภูมิปัญญาที่ถูกจารกรรมโดยชาวต่างชาติไปจดสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง ทำให้คนไทยไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมจากภูมิปัญญาของไทย หรือมีต้นทุนในการพัฒนานวัตกรรมที่สูง ทำให้ต้องไป"หยิบยืม"นวัตกรรมจากต่างประเทศมาปรับปรุงต่อยอดแทน ทำให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่เหมาะสมกับประเทศไทย และก่อให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ ตามมา

แนวทางแก้ปัญหาคือการรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นและนำภูมิปัญญาเหล่านั้นเข้าหาและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยผ่านประติมากรรมที่แปลก สะดุดตา ที่ติดตั้งไว้ริมถนนทั้งสองฝั่ง โดยผู้ชมจะได้รับการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดนวัตกรรม โดยผู้ที่สนใจจะสามารถเข้าไปศึกษาได้ถึงท้องถิ่นหรือชุมชนที่เป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญานั้นโดยตรง ถนนสายภูมิปัญญานี้จะจัดให้มีขึ้นจังหวัดละ 1 สาย แต่ละจังหวัดจะทำการประกวดเพื่อคัดเลือกภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เพื่อจัดสร้างประติมากรรม สำหรับรายชื่อภูมิปัญญาที่รวบรวมได้ ภาครัฐจะสนับสนุนให้ชุมชนเจ้าของภูมิปัญญาทำการจดสิทธิบัตรหรือจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) รื้อฟื้น อนุรักษ์และปกป้องศิลปะวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
2) เกิดการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมกับสังคมไทย
3) สร้างสุนทรียภาพและส่งเสริมการพัฒนาทัศนศิลป์ประเภทประติมากรรม
4) เกิดห้องเรียนกลางแจ้งสำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในแต่ละจังหวัด
5) จัดงานประจำปีหรือถนนคนเดินบน"ถนนภูมิปัญญา" กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด
6) เสริมสร้างความสามัคคีและความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชมท้องถิ่น
7) สร้างความภูมิใจในความเป็นไทย